สถิติ
เปิดเมื่อ21/05/2012
อัพเดท25/09/2012
ผู้เข้าชม1550
แสดงหน้า2158
สินค้า
บทความ
ประวัติส่วนตัว
ความหมายของประชาสัมพันธ์
การประชาสัมพันธ์
คำอธิบายรายวิชา ง30290 การประชาสัมพันธ์
ความสำคัญของประชาสัมพันธ์
บทที่ 1 เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์
การประชาสัมพันธ์ ศาสตร์+ศิลป์
บทที่ 2 เรื่อง ประวัติความเป็นมาของการประชาสัมพันธ์
ประโยชน์ของการประชาสัมพันธ์
บทที่ 3 เรื่อง หลักการและวัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์
บิดาของการประชาสัมพันธ์
บทที่ 4 เรื่อง การประชาสัมพันธ์กับการโฆษณา
บทที่ 5 เรื่อง ขั้นตอนการดำเนินงานประชาสัมพันธ์
บทที่ 6 เรื่อง หน่วยงานประชาสัมพันธ์
บทที่ 7 เรื่อง สื่อการประชาสัมพันธ์
บทที่ 8 เรื่อง การประเมินการประชาสัมพันธ์
บทที่ 9 เรื่อง คุณสมบัติของนักประชาสัมพันธ์
บทที่ 10 เรื่อง ศึกษาดูงาน ฝึกปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์
ปฎิทิน
May 2024
Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat
   
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 




บทความ

บทที่ 2 เรื่อง ประวัติความเป็นมาของการประชาสัมพันธ์
สาระที่  4  การอาชีพ
มาตรฐาน ง 4.1  เข้าใจ มีทักษะที่จำเป็น  มีประสบการณ์  เห็นแนวทางในงานอาชีพ  ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอาชีพ  มีคุณธรรม และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพ
ตัวชี้วัด  ข้อที่ 1  อธิบายแนวทางการเลือกอาชีพ
 
หน่วยการเรียนที่ 2   เรื่อง  ประวัติความเป็นมาของการประชาสัมพันธ์      
 
  ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
             เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและนำทักษะเกี่ยวกับงานประชาสัมพันธ์ไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ได้   จัดทำสื่อสำหรับการประชาสัมพันธ์แบบง่าย  ๆ  ตลอดจนสามารถปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ในหน่วยงานต่าง ๆ ได้ มีเจตคติที่ดีในการทำงาน รักชาติศาสน์กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัยใฝ่เรียนรู้อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ    และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
 
จุดประสงค์การเรียนรู้
    ด้านความรู้ (K) เพื่อให้นักเรียนสามารถ
1.    บอกความเป็นมาและวิวัฒนาการของการประชาสัมพันธ์ในประเทศไทยได้  
2.    บอกความเป็นมาและวิวัฒนาการของการประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศได้
3.    เปรียบเทียบพัฒนาการของการประชาสัมพันธ์ในอดีตและปัจจุบันได้
     ด้านเจตคติ  ด้านคุณธรรม    จริยธรรม  และค่านิยมอันพึงประสงค์ (A)  เพื่อให้นักเรียนสามารถ
              1.มีค่านิยมพื้นฐาน   5   ประการ  (ง 2.1)
              2.มีคุณธรรมรักชาติศาสน์กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัยใฝ่เรียนรู้อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ    
              3.มีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต    และ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
      ด้านทักษะและกระบวนการ (P) เพื่อให้นักเรียนสามารถ
1.    มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความเป็นมาและวิวัฒนาของการประชาสัมพันธ์
2.    ทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.    สามารถนำทักษะเกี่ยวกับงานประชาสัมพันธ์ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
      สมรรถนะสำคัญของผู้เรียนมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะสำคัญ 5 ประการ ดังนี้
1.   ความสามารถในการสื่อสาร  
2.   ความสามารถในการคิด
3.   ความสามารถในการแก้ปัญหา
4.   ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต   
5.   ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
ประวัติและพัฒนาการของการประชาสัมพันธ์
                การประชาสัมพันธ์ไม่ได้เริ่มต้นกำเนิดมาจากสำนักงานเผยแพร่หรือตัวแทนหนังสือพิมพ์เพียงลำพังอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะความพยายามของมนุษย์ในการที่จะพยายามติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น รวมทั้งการให้ความสำคัญแก่พลังประชามติ (Public Opinion) นั้น ได้มีมานานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ซึ่งจะแตกต่างกันที่การใช้เทคนิค เครื่องมือ และสื่อการประชาสัมพันธ์ ความชำนาญเฉพาะด้าน และความรอบรู้ที่กว้างไกลกว่าในอดีตเท่านั้น จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้เราทราบว่า มนุษย์รู้จักการใช้ประชาสัมพันธ์กันมานานตั้งแต่ยุคกำเนิดอารยธรรมเริ่มแรก โดยมนุษย์รู้จักการใช้ประชาสัมพันธ์ในกลุ่มสังคมของตน ผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มรู้จักใช้วิธีการประชาสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ภายใต้การปกครองของตน โดยใช้วิธีการและนโยบายที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจและสัมพันธภาพอันดี รวมทั้งการสร้างความสามัคคีขึ้นในหมู่เหล่าของตน ซึ่งวิธีการที่ผู้นำในสมัยโบราณใช้ในการติดต่อสื่อสารประชาสัมพันธ์กับสมาชิกภายใต้การปกครองคือ การชี้แจงบอกกล่าวให้ทราบ การโน้มน้าวใจ เพื่อสร้างความสามัคคีและความกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สำหรับเครื่องมือหรือสื่อการประชาสัมพันธ์ในยุคนั้น  ผู้นำหรือหัวหน้าต่างๆ จะใช้สัญญาณต่างๆ ควันไฟ เสียงกลอง ฯลฯ รวมทั้งการใช้คำพูด กริยาท่าทางต่างๆ เพราะในสมัยโบราณยังไม่มีเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เช่นในปัจจุบัน
 ก่อนที่การประชาสัมพันธ์จะถูกยกฐานะเป็นวิชาชีพอย่างในปัจจุบันนี้ หลักการประชาสัมพันธ์ และศิลปะการประชาสัมพันธ์ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ได้เคยใช้ปฏิบัติมาแล้วทั้งสิ้น  ซึ่งก่อนที่จะแยกศึกษาถึงประวัติและพัฒนาการการประชาสัมพันธ์ของต่างประเทศและของประเทศไทยแล้ว สามารถแยกประวัติความเป็นมาของการประชาสัมพันธ์ในภาพรวมได้ 6 ยุค สรุปได้ดังนี้ (วีระ  อรัญมงคล : 2538 : 10-30)                                                                                                                        1.การประชาสัมพันธ์ยุคโบราณ     มนุษย์ได้รู้จักวิธีการประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว เมื่อมนุษย์มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม และมีหัวหน้าเป็นผู้นำกลวิธีต่างๆ จึงถูกนำมาใช้ เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มของตนเชื่อฟังและปฏิบัติตาม ด้วยการสร้างความเชื่อถือความเลื่อมใส ความศรัทธาในตัวหัวหน้าหรือผู้นำให้เป็นที่ประจักษ์ว่าหัวหน้าเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ด้วยการอาศัยไสยศาสตร์และลัทธิบูชาวิญญาณเทพเจ้าตลอดจนการประกอบพิธีกรรมของพวกพ่อมดหมอผีต่างๆ ต่อมาเมื่อสังคมเจริญก้าวหน้าก็มีวิวัฒนาการของการสื่อสาร โดยใช้วิธีการชักจูงใจหรือโน้มน้าวในมากขึ้น  มีการสร้างเทวสถาน  การตีเกราะเคาะไม้  ตีฆ้องร้องป่าว    การแต่งเพลงปลุกใจ การแต่งนิยายความศักดิ์สิทธิ์และวีรกรรมของบรรพบุรุษ เป็นต้น ซึ่งการนำการประชาสัมพันธ์ไปใช้ในสมัยนั้น เพื่อการชี้แจงบอกกล่าวให้สมาชิกในกลุ่มได้ทราบ และสร้างความเข้าใจให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี หรือเพื่อสร้างความรัก ความสามัคคีและความกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่คณะของตน เครื่องมือหรือสื่อการประชาสัมพันธ์ยุคโบราณจึงเป็นแบบง่ายๆ เช่น คำพูด กริยาท่าทาง สัญญาต่างๆ เป็นต้น
 2. การประชาสัมพันธ์ยุคภาพเขียน  ในสมัยโบราณก่อนที่มนุษย์จะรู้จักการประดิษฐ์ตัวอักษรเพื่อใช้ในการสื่อสารนั้น มนุษย์รู้จักการเขียนภาพเพื่อสื่อความหมายและประชาสัมพันธ์ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในประเทศต่างๆ ซึ่งพบภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ เช่น ในประเทศฝรั่งเศสและสเปน (ประมาณ 25,000 - 30,000 ปี) นอกจากนี้ยังค้นพบภาพเขียนสีดังกล่าวในประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทยด้วย โดยค้นพบภาพสีบนผนังถ้ำและภาพสลักบนผนังถ้ำมากมาย ซึ่งเป็นภาพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุเก่าแก่นับเป็นพันๆ ปี ล่วงมาแล้ว ภาพเขียนเหล่านี้แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การทำสงคราม ชีวิตธรรมชาติของสัตว์ป่า    ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในสมัยนั้น  ซึ่งภาพเขียนเหล่านี้ เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดและสื่อความหมายให้แก่กันนั่นเอง                                                                                                                                                                              3. การประชาสัมพันธ์ยุคตัวอักษร การที่มนุษย์รู้จักใช้ตัวอักษรในการสื่อสารนั้นเป็นก้าวสำคัญอีกขั้นหนึ่งแห่งความเจริญด้านการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ เพราะทำให้การเผยแพร่เป็นไปได้อย่างกว้างขวาง    จากเดิมที่ผู้นำหรือหัวหน้าในยุคนั้นใช้การบอกกล่าวชี้แจงและพูดโน้มน้าวใจแก่ผู้อยู่ใต้การปกครองหรือลูกน้องของตนให้เชื่อและคล้อยตาม  หากยังไม่เชื่อก็จะเปลี่ยนมาใช้อำนาจ และการข่มขู่ให้กลัว ถ้าหากใช้วิธีดังกล่าวแล้วยังไม่สำเร็จก็จะใช้วิธีอ้างถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหนือธรรมชาติทั้งหลาย และในยุคที่มนุษย์คิดประดิษฐ์อักษรสำหรับเขียนได้นี้เอง ทำให้วิธีการโน้มน้าวชักจูงใจด้วยคำพูดที่เคยใช้มาแต่เดิมเริ่มเปลี่ยนไป มีการใช้วิธีการเขียนเพื่อโน้มน้าวชักจูงใจเข้าเสริมอีกแรงหนึ่ง รวมทั้งการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์และโน้มน้าวชักจูงใจในรูปแบบต่างๆ มากมาย และในยุคนี้เองที่บทบาทของประชามติเริ่มเกิดขึ้น ผู้นำหรือผู้ปกครองเริ่มให้ความสนใจและความสำคัญของประชามติ ยุคนี้นับว่าเป็นยุคที่มีความตื่นตัวทางด้านการประชาสัมพันธ์อย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นผู้นำในยุคนี้ได้ใช้การบันทึกตัวอักษรเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ด้วย เช่น การจารึกถ้อยคำบนกำแพงเมืองปอมเปอี เพื่อกระตุ้นชักชวนให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง    หรือในสมัยของซีซาร์ได้ริเริ่มการติดต่อสื่อสารประชาสัมพันธ์กับประชาชนโดยออกเป็นประกาศแถลงข่าวประจำวันขึ้น เพื่อให้ข่าวสารต่างๆ ของทางราชการและส่วนรวม เช่น การประกาศกฎหมายระเบียบข้อบังคับต่างๆ และประกาศข่าวประจำวัน ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การเกิด การตาย การแต่งงาน ภัยธรรมชาติ เป็นต้น
 4. การประชาสัมพันธ์ยุคบทกวีนิพนธ์และบทประพันธ์ ในสมัยกรีกโบราณได้มีพวกกวี หรือนักประพันธ์ ร้อยกรอง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนต่างๆ เป็นผู้นำเอาเทคนิควิธีการประชาสัมพันธ์ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำไปเป็นเครื่องมือในการสร้างประชามติ ซึ่งลักษณะของการประพันธ์เป็นบทร้อยกรอง หรือบทกวีนิพนธ์ หรือมหากาพย์ที่มีความไพเราะเพราะพริ้ง มีจังหวะเร้าใจ จดจำได้ง่าย ส่วนในสมัยโรมนั้นก็ได้รับอิทธิพลจากกรีก และนำเอาเทคนิคและวิธีการประชาสัมพันธ์ โดยการใช้บทกวีนิพนธ์และร้อยกรองของกรีกไปใช้ในการสร้างประชามติเช่นกัน โดยคำประพันธ์และกวีนิพนธ์ร้อยกรองต่างๆ จะมีเนื้อหาที่บรรยายถึงความสวยงาม ความสวยและความร่มรื่นของภูมิประเทศในชนบท ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนในกรุงโรมที่อยู่กันหนาแน่นได้อพยพออกไปจากกรุงโรม และให้ไปตั้งหลักแหล่งที่อยู่ใหม่ในชนบท                                                                                                                                5.การประชาสัมพันธ์ยุคเครื่องพิมพ์  ในปี  ค.ศ. 1454-1455  จอห์น กูเตนเบอร์ก (John Gutenburg) ชาวเยอรมัน ได้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องพิมพ์ครั้งแรกจากการประดิษฐ์แท่นพิมพ์นี้ ทำให้การประชาสัมพันธ์เจริญรุดหน้าไปอย่างมากมาย สามารถเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ ได้ในรูปของหนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆ และสามารถเข้าถึงประชาชนได้เป็นจำนวนมาก  ในรูปของสิ่งพิมพ์และหนังสือพิมพ์ต่างๆ การพิมพ์ในยุคนี้จึงมีผลต่อการประชาสัมพันธ์และสามารถโน้มน้าวประชาชนทั้งด้านการเผยแพร่ลัทธิศาสนา การสร้างอิทธิพลต่อประชามติเพื่อประโยชน์ด้านการเมืองการปกครองรวมทั้งทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารสองทาง (Two - way Communication) ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ซึ่งในยุคของเครื่องพิมพ์นี้ ทำให้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อโฆษณาที่มีอิทธิพลและบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ไปสู่ประชาชนอย่างกว้างขวางมากขึ้น เป็นผลดีต่อการบริหารประเทศและการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีหนังสือพิมพ์เป็นตัวกลางในการติดต่อสื่อสารเพื่อการประชาสัมพันธ์
6. การประชาสัมพันธ์ยุคปัจจุบัน  การประชาสัมพันธ์ในยุคนี้ถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์สมัยใหม่โดยเริ่มมาตั้งแต่มนุษย์ได้ปรับปรุงพัฒนาและประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือสื่อสารใหม่ๆ มาช่วยในการเผยแพร่ให้งานประชาสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น วิทยุ โทรทัศน์ โทรเลข โทรพิมพ์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เครื่องมือและสื่อเหล่านี้ทำให้งานประชาสัมพันธ์ในปัจจุบันรวดเร็วฉับไวและสามารถครอบคลุมในบริเวณกว้างขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการประชาสัมพันธ์ที่จะบังเกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ                                               
ประวัติและพัฒนาการของการประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ
           วิชาการประชาสัมพันธ์นั้นถือกำเนิดในต่างประเทศ และแพร่หลายไปทั่ว ประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษนับเป็นประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นแม่แบบของการประชาสัมพันธ์ในยุคต่อๆมา ดังนั้นวิวัฒนาการของการประชาสัมพันธ์ทั้งสองประเทศนี้ผู้ที่เรียนวิชาการประชาสัมพันธ์ต้องศึกษา
                        1)    การประชาสัมพันธ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ประชาชนชาวอเมริกันรู้จักใช้วิธีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ มานานก่อนที่จะก่อตั้งเป็นประเทศ โดยส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในวงการธุรกิจการค้า เช่น การขายที่ดิน การขยายทุน เป็นต้น ทั้งนี้เพราะชาวอเมริกันในสมัยเริ่มแรกก่อนตั้งประเทศผู้คนได้อพยพมาจากหลายประเทศด้วยกัน ส่วนมากมาจากประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ผู้เดินทางไปจับจองที่ดินเพื่อตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญคือชาว   พูริเท็น (Puritan) จากประเทศอังกฤษ กลุ่มชนเหล่านี้ดิ้นรนมาแสวงหาเสรีภาพในการนับถือศาสนาทุกคนที่มาต่างก็มีความมุ่งมั่น ความหวังและความศรัทธาในเสรีภาพของการแสดงออกในลักษณะการทำหนังสือพิมพ์ไปด้วย ซึ่งต่อมามีการตั้งโรงพิมพ์ และพิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับแรกขึ้นในราวปี ค.ศ. 1704  คือ บอสตัน นิวส์เลตเทอร์ (The Boston News Letter)
                        สหรัฐอเมริกาเป็นดินแดนที่ชาวยุโรปเรียกว่า โลกใหม่ ประชาชนส่วนใหญ่มาจากประเทศอังกฤษ ดินแดนแห่งนี้ถูกอังกฤษครอบครองแต่ก็ให้อิสระในการปกครองตนเอง  ในด้านเศรษฐกิจนั้นถูกอังกฤษควบคุมไว้อย่างเด็ดขาด มีการเก็บภาษีอากรอย่างเข้มงวดมาก ชาวอเมริกันจึงพากันต่อต้านทั้งทางตรงและทางอ้อม ในที่สุดก็เกิดสงครามอิสรภาพขึ้น รัฐสภาของสหรัฐอเมริกาจึงได้ประกาศอิสรภาพเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776  ต่อมาได้เกิดสงครามระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส สงครามอิสรภาพจึงได้สิ้นสุดลงเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1783  ทำให้อังกฤษต้องยอมรับอภิปไตยของสหรัฐอเมริกา หลังจากสหรัฐอเมริกาได้หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษความเจริญของประเทศ ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การสื่อสารคมนาคมก็ได้รับการปฏิรูปมีการคิดค้นประดิษฐ์เครื่องทุนแรงต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และในสมัยประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นเพราะมีการประกาศเลิกทาส และมีการทำสงครามระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ผู้ที่ต่อต้านการค้าทาส ส่วนมากมาจากรัฐฝ่ายเหนือ และฝ่ายเหนือก็เป็นฝ่ายชนะในที่สุด ในช่วงเวลาการทำสงครามไม่ว่าจะเป็นสงครามกู้อิสรภาพ หรือสงครามกลางเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการนำเอาเทคนิคการประชาสัมพันธ์มาใช้เพื่อสนับสนุนฝ่ายตน เช่น การออกประกาศแถลงการณ์ การปลุกเร้าประชามติ การใช้หนังสือพิมพ์ การพูดในที่ชุมชน เป็นต้น
                        ความเจริญก้าวหน้าทางด้านการประชาสัมพันธ์ที่เห็นได้เด่นชัด เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา นับว่าเป็นการเริ่มเข้าสู่การประชาสัมพันธ์ในแนวคิดสมัยใหม่ โดย ไอวี เลดเบตเตอร์ ลี (Ivy Ledbetter Lee) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ไอวี ลี (Ivy Lee) เป็นนักหนังสือพิมพ์หนุ่มที่บุกเบิกงานด้านการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง โดยเสนอแนวความคิดที่ถูกต้องของการประชาสัมพันธ์ว่า “ไม่ควรปิดหู ปิดตาประชาชน หรือเพิกเฉยละเลยต่อประชาชน” ไอวี ลี นับได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการวางพื้นฐานด้านการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน และต่อมาได้จัดตั้งสำนักงานรับจ้างดำเนินงานประชาสัมพันธ์ขึ้นมา และรับจ้างดำเนินการธุรกิจด้านการประชาสัมพันธ์ต่างๆ แก่สถาบัน องค์การทั่วไป ไอวี ลี จึงถูกยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งการประชาสัมพันธ์”
                        2)    การประชาสัมพันธ์ของประเทศอังกฤษ  วีระ อรัญมงคล ได้เขียนสรุปไว้ดังนี้ (2538 : 14) การประชาสัมพันธ์ของประเทศอังกฤษเริ่มขึ้นจากภาคเอกชนก่อนโดยมี โธมัส เจ ลิปตัน (Thomas J Lipton) ชาวสก็อตแลนด์ ได้นำเอาวิธีการโฆษณากิจการแบบสร้างข่าวเกี่ยวกับบริษัทมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเผยแพร่ให้หนังสือพิมพ์ลงข่าว ส่วนการประชาสัมพันธ์ภาคราชการของประเทศอังกฤษ กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้แผ่นปลิว และการแสดง ปาฐกถาเคลื่อนที่เพื่อเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการประกันสุขภาพสังคมซึ่งจะประกาศใช้ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้นในปี ค.ศ. 1914  กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ได้ขยายงานด้านโฆษณาเผยแพร่มากขึ้น และมีการตั้งกระทรวงโฆษณา แต่ก็ถูกล้มเลิกไปเมื่อสงครามสิ้นสุดลง สำหรับกระทรวงที่มีภาระหน้าที่ให้บริการประชาชนจะมีการตั้งแผนกประชาสัมพันธ์ขึ้นโดยเฉพาะ และมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อรัฐมนตรี ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง กระทรวงโฆษณาก็ถูกตั้งขึ้นมาอีกครั้งเพื่อวางแผนทำสงครามจิตวิทยาทั้งในและนอกประเทศ ต่อมาพอสงครามโลกสิ้นสุดลง กระทรวงดังกล่าวก็ถูกยุบเลิกไป และก็เปลี่ยนมาเป็นสำนักข่าวสารกลาง ซึ่งรับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล
                        จะเห็นได้ว่าวิวัฒนาการของการประชาสัมพันธ์ทั้งของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ มาจากการนำไปใช้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ข่าวสาร ปลุกเร้าประชามติ เพื่อเรียกร้องความร่วมมือในการดำเนินงาน แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศสหรัฐอเมริกานับได้ว่าเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการกำเนิดการประชาสัมพันธ์สมัยใหม่อย่างแท้จริง
                        ถ้าจะพิจารณาแล้ววิวัฒนาการของการประชาสัมพันธ์ เป็นผลมาจากการทำสงคราม เช่น สงครามกู้อิสระภาพ สงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา และรวมไปถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1914 - ค.ศ. 1918) และสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ. 1939-1945) ซึ่งการประชาสัมพันธ์ได้เข้าไปมีบทบาท เช่น ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมีการตั้งคณะกรรมการประชานิเทศ (Committee on Public Information) เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ แก่ประชาชนในยามสงคราม การดำเนินงานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นเน้นไปทางด้านการใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ทางด้านก่อ และใช้เทคนิคทางด้านการโฆษณาและโฆษณาชวนเชื่อเข้าร่วมด้วย สงครามโลกสิ้นสุดลง เอ็ดเวอร์ด แอล เบอร์เนส์ (Edward L. Bernays) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในกระทรวงการประชานิเทศได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์เล่มแรกขึ้น และหลังจากนั้นได้รับเชิญเป็นอาจารย์สอนวิชาการประชาสัมพันธ์เป็นครั้งแรกในสถาบันระดับอุดมศึกษา คือมหาวิทยาลัยแห่งนิวยอร์ค สำหรับในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดตั้ง “สำนักงานข่าวสารสงคราม” (Office of War Information) โดยปฏิบัติงานด้านการรณรงค์ข่าวสารทั้งทางด้านกองทัพ ทางทหาร ธุรกิจ    อุตสาหกรรม และกลุ่มสัมพันธมิตรร่วมสงคราม จนประสบความสำเร็จและได้รับชัยชนะในที่สุด
 ประวัติและพัฒนาการของการประชาสัมพันธ์ในประเทศไทย
                       การประชาสัมพันธ์ในประเทศไทย  จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยอันได้แก่ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ทำให้ทราบว่าการประชาสัมพันธ์ในประเทศไทยนั้นมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยการบันทึกเพื่อการประชาสัมพันธ์ว่าอาณาจักรสุโขทัยมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ประชาชนมีอิสระเสรีในการทำมาหากิน มีสิทธิและเสรีภาพ กษัตริย์ทรงปกครองประชาชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นการสร้างความรัก ความสามัคคี ตลอดจนความรักใคร่กลมเกลียวกัน ทำให้อาณาจักรสุโขทัยเจริญรุ่งเรือง ต่อมาเมื่อกรุงสุโขทัยเริ่มอ่อนแอลงพระเจ้าอู่ทองจึงได้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 1892  มีการจัดการปกครองแบบจตุสดมภ์คือ เวียง วัง คลัง นา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์และประชาชนเปลี่ยนไปไม่มีความสนิทสนมกัน การประชาสัมพันธ์ในยุคนี้ที่เห็นเด่นชัดคือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี และค้าขายกับต่างประเทศ และในอีกสมัยคือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีการใช้เทคนิคการประชาสัมพันธ์เข้ามาช่วยในการกอบกู้เอกราช โดยพระองค์ทรงปลุกจิตสำนึกกระตุ้นเตือนให้ประชาชนรักชาติ และช่วยกันขับไล่พม่าออกไปจากกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้พระองค์ก็ทรงออกเยี่ยมประชาชน เพื่อบำรุงขวัญประชาชน และเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติอีกด้วย
                        สำหรับในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินก็มีการนำเทคนิคการประชาสัมพันธ์มาใช้เช่นกัน เพื่อบำรุงขวัญให้ประชาชนที่แตกกระจัดกระจายภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่าให้กลับเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงธนบุรี โดยการออกเยี่ยมเยียนและเผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบว่ากรุงธนบุรีมีความมั่นคง ปลอดภัย
                        สำหรับในสมัยรัตนโกสินทร์นี้นับได้ว่าการประชาสัมพันธ์ของประเทศไทยมีวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่มีการนำเอาเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยหรือสื่อมวลชนเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ โดยเริ่มตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการนำเครื่องพิมพ์เข้ามาในประเทศไทยโดยนักสอนศาสนาคริสต์ชาวอเมริกันที่ชื่อ เรเวอร์เรนต์ รอบินสัน และได้พิมพ์หนังสือสอนศาสนานับเป็นหนังสือภาษาไทยเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นในประเทศไทย ต่อมานักสอนศาสนาชาวอเมริกันอีกผู้หนึ่งชื่อ ดร. แดน บีช แบรดลี่ย์ ได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นและพิมพ์ประกาศของรัฐบาลไทยห้ามสูบและค้าฝิ่นในรูปของใบปลิว เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2382  นับเป็นเอกสารราชการที่พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จากนั้นอีกประมาณ 5 ปี ในปี พ.ศ. 2387  หมอแบรดลี่ย์ได้ทำหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาไทยออกเป็นครั้งแรกเรียกว่า “บางกอกรีคอเดอร์” (Bangkok Recorder) โดยมีวาระการพิมพ์ที่ไม่แน่นอนอยู่ไม่ถึงปีหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็เลิกกิจการไป
                        ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2401  ได้ทรงโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์หลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า “โรงพิมพ์อักษรพิมพ์การ” และได้พิมพ์ประกาศของทางราชการ และหนังสือราชกิจจานุเบกษา (Government Gazette) ฉบับแรกขึ้นนับเป็นวารสารประชาสัมพันธ์ของทางราชการฉบับแรก และในระหว่างสมัยรัชกาลที่ 4 นี้ ได้มีหนังสือพิมพ์เกิดขึ้นอีกหลายฉบับ บางฉบับก็มีอายุยืนนาน แต่บางฉบับก็ล้มลุกคลุกคลานหายไปเรื่อยๆ
                        ต่อมาได้มีการใช้วิทยุกระจายเสียงเป็นสื่อในการเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ ซึ่งวิทยุถือกำเนิดขึ้นในครั้งแรกตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 7  โดยมีการปฐมฤกษ์ในวันเปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของประเทศไทย ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงมีพระราชดำรัสปราศรัยแก่ประชาชนชาวไทย และเมื่อประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้มีการตั้งกองการโฆษณาขึ้น ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานโฆษณาการ โดยทำหน้าที่ในการเผยแพร่ข่าวสาร ความรู้เรื่องการปกครองและนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนเป็นการป้องกันแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับรัฐบาลและประชาชนโดยส่วนรวม ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2483  ได้เปลี่ยนชื่อสำนักงานโฆษณาการเป็นกรมการโฆษณาการ และเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2495  ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์จนถึงปัจจุบัน
                        ถ้าจะพิจารณาแล้วในการประชาสัมพันธ์นั้น วิทยุกระจายเสียงนับว่ามีบทบาทสำคัญยิ่ง เพราะวิทยุกระจายเสียงเป็นสื่อที่ใกล้ชิดกับผู้นำและเข้าถึงประชาชนได้ดี สะดวกรวดเร็วทันกับเหตุการณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐ นิยมใช้วิทยุกระจายเสียงเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์มาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา :  www.mct.rmutp.ac.th/.../หน่วยที่%20%202.ประวัติโฆษณาและป...